สำนวนจีนและสุภาษิต 成语 讳疾忌医 และ 良药苦口 ขมเป็นยา
This post has already been read 33687 times!
** เรื่องนี้ โพสต์ครั้งแรกในโอเคเนชั่นบล็อกเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2011 (พ.ศ. 2554) และได้รับเกียรติจาก บก.โอเคเนชั่นบล็อก เลือกให้เป็นเรื่องแนะนำจากกอง บก.
หลังจากที่โพสต์เรื่องนี้ไป ได้มีคนคัดลอกไปโพสต์ในเว็บไซต์ของผู้จัดการออนไลน์ โดยเขียนลงในลักษณะที่ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าคนโพสต์ในเว็บบอร์ดผู้จัดการเป็นคนเขียนและแปลเอง
ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่น่าละอาย ละเมิดลิขสิทธิ์ เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย และขาดจริยธรรม
เรื่องนี้เคยร้องเรียนไปทางผู้ดูแลเว็บบอร์ดของผู้จัดการออนไลน์แล้ว แต่เวลาผ่านไป ก็ยังไม่พบว่ามีการปรับปรุง หวังว่าผู้คัดลอกจะทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณ
…………………………….
สำนวนจีน 成语 讳疾忌医 และ 良药苦口 ขมเป็นยา
ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดเลย แต่เมื่อมีคำวิจารณ์ เราควรมีท่าทีรับฟังอย่างไร
วันนี้จะขอแปลและเขียนขยายความเกี่ยวกับสุภาษิตโบราณของจีน 3 ค่ะ
เป็นสุภาษิตจีนที่เกี่ยวกับท่าทีในการรับฟังคำวิจารณ์
สุภาษิตจีนคำว่า
良药苦口利于病,忠言逆耳利于行。
เป็นคำที่สอนให้เราควรมีท่าทีอย่างไรในการรับฟังความคิดเห็นและคำวิจารณ์ของผู้อื่นที่มีต่อตัวเรา
(应该怎么正确对待别人的意见和批评。)
良药 ( ยาดี ) 苦口 ( ขมปาก )
忠言 ( คำพูดที่หวังดี ) 逆耳 ( ขัดหู )
良药苦口利于病,忠言逆耳利于行。
ถ้าแปลตรงตัวก็แปลได้ว่า
ยาดีขมปากมีคุณในการรักษาโรค คำตักเตือนที่ขัดหูมีคุณต่อการปรับปรุงตัว
หมายความว่า ยาประสิทธิภาพดีที่มีรสขมเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรค ทำให้หายป่วยได้ คำพูดหวังดีที่ฟังดูขัดหูเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปฏิบัติ
ที่มา
มาจากคำพูดของขงจื่อ ปราชญ์โบราณของจีนซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2500 กว่าปีก่อน
( ขงจื่อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 551 – 547 ก่อนคริตกาล โดยขงจื่อเกิดก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานประมาณ 8 ปี )
ศิษยานุศิษย์ของขงจื่อได้รวมรวมคำสอนของขงจื่อนี้ไว้ใน “บันทึกคำสอนขงจื่อ” 《孔子家语•六本》ซึ่งชาวจีนใช้สอนคนรุ่นต่อๆ มาจนกลายเป็นสุภาษิต
ยารักษาโรคของจีนโบราณเป็นยาสมุนไพร ส่วนมากมีรสขมหรือขื่น
ส่วนคำพูดที่สอนให้คนทำความดี หรือคำวิจารณ์ติเตียนนั้น มักจะเป็นคำพูดที่คนไม่ชอบฟัง เพราะโดยธรรมชาติคนเราจะชอบฟังคำยกย่องสรรเสริญหรือคำประจบสอพลอมากกว่าคำเตือน
การที่คนคนหนึ่งจะวิจารณ์ข้อบกพร่องของคนอื่นหรือเพื่อน ต้องใช้ความกล้าหาญมาก
เพราะเสี่ยงต่อการถูกเกลียดชัง บางเรื่องจะกล้าเตือนเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น
สุภาษิตจีน 良药苦口利于病,忠言逆耳利于行。คำนี้อุปมาว่า
ยาที่ทั้งขมทั้งขื่นยากในการกลืนกินแต่ช่วยรักษาโรคที่ป่วยอยู่ให้หายได้ฉันท์ใด
คำพูดที่ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องหรือคำวิจารณ์ที่แสลงหูย่อมมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติตัวของคนเราฉันท์นั้น
มีคนเปรียบเทียบสุภาษิตจีน 良药苦口利于病,忠言逆耳利于行。นี้กับภาษาอังกฤษไว้ว่า
良药苦口: Good medicine always tastes bitter.
良药苦口利于病:
1. Good medicine for health tastes bitter to the mouth.
2. Good medicine is bitter in the mouth
ยังมีสำนวนจีนโบราณที่มาจากคำพูดของขงจื่ออีกคำหนึ่ง คือ
有则改之,无则加勉
意思是:对别人给自己指出的缺点错误,如果有,就改正,如果没有,就用来勉励自己。
คำนี้หมายความว่า ถ้าเห็นว่าเรามีจุดอ่อนข้อผิดพลาดตามที่ผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์มา ก็รับมาปรับปรุงแก้ไขเสีย แต่ถ้าไม่มีตามที่คนอื่นว่ามา ก็รับเอาคำวิจารณ์นั้นมาเตือนใจตนเอง
ถ้าแปลตรงตัวก็จะคล้ายคำไทยที่ว่า
” มีข้อผิดพลาดก็แก้เสีย ไม่มีก็ถือเป็นข้อเตือนใจ “
ที่มา คำนี้มีการบันทึกไว้ใน《论语》คำสอนของขงจื่อ
……………………………………………………
讳疾忌医
讳疾忌医 (โรคกลัวหมอ ปิดบังโรคเพราะกลัวหมอ) เป็นสำนวนจีนอีกคำหนึ่ง
讳疾忌医:不愿意接受别人的批评意见,从而由小错到大错,由大错到不可救药。
หมายความว่า ป่วยแต่ไม่ยอมรับการวินิจฉัยของแพทย์ และไม่ยอมรับการรักษา
( ทำให้โรคนั้นลุกลามจนกลายเป็นโรคร้ายแรงที่ไม่อาจเยียวยาได้ )
การใช้
ใช้คำนี้ในการอุปมา ไม่ยอมรับคำวิจารณ์ของผู้อื่น ทำให้ข้อผิดพลาดที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยค่อยๆ กลายเป็นข้อผิดพลาดที่ใหญ่ขึ้น
แปลและเรียบเรียงโดย สุวรรณา สนเที่ยง วันที่ 2 สิงหาคม 2011 (สงวนลิขสิทธิ์)
ภาษาจีน-ไทยเปรียบเทียบ 泰汉语比较 (张碧云)
ขอบคุณทุกยอดคลิกอ่านเกร็ดภาษาจีน
ใส่ความเห็น