Get Adobe Flash player

รีรัน ขนมไหว้พระจันทร์ เทศกาลนี้ในภาษาจีนไม่ได้เรียกว่า วันไหว้พระจันทร์

Hits: 8558

This post has already been read 18421 times!

Rating:

ก่อนอื่น ทำความเข้าใจกันเรื่องชื่อเทศกาลสักนิด  คือ

วันไหว้พระจันทร์ คนจีนไม่ได้มีชื่อเรียกในเชิง “ไหว้พระจันทร์” แต่อย่างใด  

ภาษาจีนใช้คำว่า 中秋节 (เทศกาลจุงชิว) ซึ่งแปลว่า เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง

ภาษาชาวบ้านเรียกว่า เทศกาลกลางเดือน 8

ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 เป็นเทศกาลที่โรแมนติคที่สุดของจีน

  
แต่แปลเป็นไทยคงเรียกยาก  กอร์ปกับคนไทยเชื้อสายจีนสมัยก่อนนิยมไหว้เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ (嫦娥) กัน

เราก็เลยเรียกติดปากเป็น “วันไหว้พระจันทร์” และ “ขนมไหว้พระจันทร์” มาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งที่ชาวจีนตอนนี้ไหว้พระจันทร์กันน้อยและหายากมากในคนจีนรุ่นใหม่

เทศกาลนี้เป็นเทศกาลใหญ่อันดับสองรองจากตรุษจีน

เขาฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์โดยมีความหมายในการรวมญาติ

เน้นความกลมเกลียวเหมือนดวงจันทร์คืนเดือนเพ็ญในกลางฤดูใบไม้ร่วง

ซึ่งเป็นช่วงสภาพอากาศดีที่สุดของจีน ท้องฟ้าปลอดโปร่ง และกำลังจะเข้าสู่หน้าหนาวที่หฤโหด

ในประเทศจีนปัจจุบัน และ ที่ฮ่องกงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกวางตุ้ง

จะมีการเฉลิมฉลองวันเทศกาลจุงชิว เป็นวันหยุดทำงาน  เน้นกิจกรรมรวมญาติและให้ของขวัญอวยพรกัน

ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกว่า ขนมจันทร์  月饼 ไม่ได้เรียกว่าขนมไหว้พระจันทร์

ทานพร้อมชาจีน  และชมจันทร์พร้อมกัน หรือเดินทางท่องเที่ยวกันทั้งครอบครัว

 

ป.ล. ลูกเหล่าซือรายงานสดมาจากฮ่องกงตอนสามทุ่มวันนี้ว่า

ที่ฮ่องกง ขณะนี้ มีการทานข้าวรวมญาติ และมีการประดับโคมไฟกันตามสถานที่ต่างๆ อย่างสวยงาม

บรรยากาศคึกคักมาก 

ภาพบน ไส้ยอดนิยม บัวไข่

ขนมไหว้พระจันทร์หิมะ ที่ญาติดิฉันส่งทางไปรษณีย์มาจากเบตง 

ไส้พุทราแดง

……………………………………………………………………………………………

จากเอนทรี่เก่า 

วันจันทร์ ที่ 12 กันยายน 2554

วันไหว้พระจันทร์ ในมิติของคนจีนแผ่นดินใหญ่ปัจจุบัน

ขนมไหว้พระจันทร์ (中秋月饼)

เทศกาลไหว้พระจันทร์  

มีความหมายต่อชาวจีนปัจจุบันอย่างไร  ในเมืองจีนเขาฉลองอย่างไร  ยังมีการไหว้พระจันทร์หรือไม่   เป็น “ วัฒนธรรมใหม่ ”  ที่ต้อง ” อัพเดท “

       วันเพ็ญเดือนแปด วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน  เป็นวันเทศกาลไหว้พระจันทร์  ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12 กันยายน 2011  วันนี้เป็นวันหยุดราชการในจีน  และชาวจีนมีการฉลองกันอย่างคึกคัก

       เทศกาลสำคัญของจีนมีอยู่ 4 เทศกาล   เทศกาลไหว้พระจันทร์มีความสำคัญอันดับสองรองจากตรุษจีน  เป็นเทศกาลที่สดชื่น  มีความสุนทรีและโรแมนติคมากที่สุดเทศกาลหนึ่งของจีน

       เทศกาลไหว้พระจันทร์ ภาษาจีนใช้คำว่า 中秋节 ซึ่งแปลว่า เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง  ในเมืองจีนยังเรียกว่า  团圆节 ด้วย  ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า  八月半 แปลว่ากลางเดือนแปด ( แปดเดือนครึ่ง นับจากวันตรุษจีน )  ไม่ได้มีความหมายว่าไหว้พระจันทร์แต่อย่างใด

       คนไทยเรารู้จักเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีนมานาน  แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักในลักษณะที่เป็นวันที่ชาวจีนบูชาหรือไหว้เทพธิดาแห่งดวงจันทร์  เพื่อขอประทานพร ประทานโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์ ความงาม ฯ

       แต่ว่า  ในประเทศจีนปัจจุบัน  ความสำคัญและกิจกรรมของเทศกาลไหว้พระจันทร์ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว    ไม่ได้มีความหมายอย่างที่เข้าใจอีกต่อไป  โดยได้เปลี่ยนจากประเพณีการไหว้พระจันทร์ที่เน้นการบูชาเทพเจ้าที่เคร่งพิธีกรรมมาเป็นการพบปะรวมญาติกิน – เที่ยวในอารมณ์แบบชิวๆ สบายๆ   ชาวจีนในเมืองมีการไหว้พระจันทร์น้อยมาก

         คนจีนปัจจุบันถือว่าวันนี้เป็นวัน 团圆节 เป็นวันที่ผู้คนในครอบครัวกลับมาพบปะกันพร้อมหน้าอีกครั้ง  ลูกๆ ที่แต่งงานออกไปตั้งครอบครัวใหม่  หรือย้ายไปทำงานต่างถิ่น  จะต้องกลับมารวมญาติกันในวันนี้

         คำว่า  团 แปลว่า  ก้อน กลม กลุ่ม คณะ(บุคคล)  圆 แปลว่า กลม สมบูรณ์ ครบถ้วน  คำว่า  团圆  แปลได้ว่าอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า  ( ไม่ได้แปลว่าสามัคคีกลมเกลียว )   แต่หมายถึงการที่คนในครอบครัวที่แยกจากกันได้กลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้ง  ถ้าหากขาดคนใดคนหนึ่งไป  ก็จะเหมือนดวงจันทร์ที่แหว่งเว้าไป  และในคืนวันนี้  ทุกคนในครอบครัวก็จะนั่งทานข้าวทานขนมร่วมกัน ( ชมจันทร์บ้างไม่ชมจันทร์กันบ้าง )  บางครอบครัวก็จะไปท่องเที่ยวกันทั้งครอบครัว  เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย  ไม่หนาวไม่ร้อน ท้องฟ้าปลอดโปร่ง   เป็นการเดินทางท่องเที่ยวก่อนที่ประเทศจีนจะย่างเข้าสู่ฤดูหนาวที่ยาวนานและทรมาน

         农历八月十五日,是中国传统的中秋节,也是仅次于春节的第二大传统节日。古人把圆月视为团圆的象征。又称八月十五 “团圆节”。

         แต่โบราณมา  ชาวจีนใช้ภาพการแหว่งเว้าและการกลมมนของดวงจันทร์อุปมาชีวิตที่ต้องพลัดพราก  ผิดหวัง  สมหวังมานานแล้ว(古往今来,人们常用 “月 圆” “月缺” 来形容 “悲欢离合” )

         กวีเอกของจีนหลายท่านได้ประพันธ์บทกวีที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ไว้มากมาย  หนึ่งในนั้นก็คือบทกวีอมตะของกวีเอก หลี่ไป๋(李白) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราชวงศ์ถัง ที่มีชื่อว่า  静夜思 ซึ่งพรรณนาถึงความรู้สึกคิดถึงบ้านเกิดในคืนวันเพ็ญ  ( …..    “ 举头望明月,低头思故乡”  แหงนหน้ามองดูมองดูจันทร์ที่สุกสว่าง  ก้มหน้าคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน …  เนื้อหาคล้ายๆ กับเพลง เดือนเพ็ญ ของไทย )  เวลาผ่านไปนานกว่า 1,000  ปี   บทกวีบทนี้ซึ่งประกอบด้วยอักษรจีน 20 ตัวก็ยังเป็นบทกวีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบทกวีที่ดีที่สุดบทหนึ่งและใช้สอนคนจีนมาจนทุกวันนี้……

          月饼象征团结,是中秋必备的食品。

          ขนมไหว้พระจันทร์  ภาษาจีนใช้คำว่า 月饼 แปลว่าขนมจันทร์  ซึ่งทำเป็นทรงกลม  เป็นสัญลักษณ์ของความกลมเกลียว(团结)  เป็นขนมพิเศษที่ทำขึ้นตามประเพณีเฉพาะเทศกาล

          ในคืนวันไหว้พระจันทร์  ตามธรรมเนียนมจีนก็จะตัดแบ่งขนมไหว้พระจันทร์ก้อนกลมนี้แบ่งให้คนในครอบครัวทานด้วยกัน  ซึ่งมีคติแฝงสอนให้ลูกหลานสามัคคีกัน  ( ในสมัยก่อน ถ้าลูกหลานคนไหนยังกลับมาไม่ทัน ก็ให้เก็บส่วนของคนนั้นไว้ )

( สิ่งที่ต้องใส่ไว้ในขนมชนิดนี้คือ เม็ดแตง  ขนมไหว้พระจันทร์จากภัตตาคารเชียงการีลา)

        ขนมไหว้พระจันทร์  ปัจจุบันได้กลายเป็นของขวัญที่ชาวจีนในจีนนิยมมอบให้ญาติมิตรหรือลูกค้าอย่างแพร่หลาย  ไม่ได้เป็นของไหว้พระจันทร์   ร้านทำขนมต่างๆ จึงต้องแข่งขันกันด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม  ดูมีค่า

        ในเมืองไทย  พอถึงเทศกาลนี้  ก็จะมีการแข่งขันกันทำขนมไหว้พระจันทร์ออกมาขายกันอย่างคึกคัก  เมื่อก่อน  การทำขนมไหว้พระจันทร์เพื่อขายจะค่อนข้างจำกัดอยู่ในวงของภัตตาคารจีนหรือร้านอาหารจีนใหญ่ๆ ในไทยที่เป็นมืออาชีพซึ่งได้รับการยอมรับเชื่อถือในด้านคุณภาพและรสชาติเท่านั้น  แต่เนื่องจากขนมชนิดนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ  ปัจจุบัน  จึงมีร้านขนมสไตล์ฝรั่งหลายแห่งเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งตลาดด้วย  อาทิ ร้านกาแฟอย่าง STARBUCKS ก็ได้มีการวางจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ภายใต้ยี่ห้อ สตาร์บัค

 

       สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว  จะให้ความสำคัญกับสารทจีนมากกว่า  แต่คนจีนในฮ่องกงและมาเลเซียซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนกวางตุ้ง  ก็จะให้ความสำคัญกับวันเทศกาลนี้มากกว่าวันสารทจีน  ฮ่องกงกำหนดเป็นวันหยุดราชการและมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วย

       โดยหลักๆ แล้ว  ขนบธรรมเนียม หลายๆ อย่างของคนจีนเป็นเรื่องที่เน้นปลูกฝังให้ลูกหลานเป็นคนมีคุณธรรม ขยัน อดทน เอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี สามัคคี

แต่คนจีนรุ่นใหม่มีความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปและแตกต่างจากยุด 60 ปีที่แล้วมาก  บางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปในทางดี  คนจีนในประเทศจีนปัจจุบันไม่ได้เคร่งกับการยึดกรอบธรรมเนียนประเพณีหลายๆ อย่างแล้ว  และมีความคิดที่แตกต่างจากคนไทยเชื้อสายจีนพอสมควร  รวมทั้งประเพณีไหว้พระจันทร์ด้วย 

 การศึกษาข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมจากสิ่งที่เคยรู้และได้ยินเล่าต่อๆ กันมาตั้งแต่เด็ก 

จะช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรมใหม่ๆ วิธีคิดและวิถีชีวิตของชาวจีนปัจจุบันมากขึ้น

Flag Counter

 

ดูเกร็ดความรู้ภาษาจีนเพิ่มเติม (คลิกที่นี่)

อ่านเรื่องเกร็ดภาษาจีน  หวังว่าทุกคลิกของท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความเหล่านี้

Flag Counter

อาจารย์สุวรรณา

Future C อาจารย์สุวรรณา

บทความและภาพ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ยินดีเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้ แบ่งปันได้แต่ต้องไม่ดัดแปลงต้นฉบับ ไม่เพื่อการค้า และอ้างอิงแหล่งที่มาให้ชัดเจน 228 post in this blog.

Comments

comments


Share Button

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติHTML: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>

นักเรียนของเรา
แหล่งรวมบทความของเรา

OK

BC BT

Fan Page
จำนวนผู้เข้าชม
Flag Counter